-01.png)
ถ้าไม่อ่านบทความนี้
“ ระวังตาแห้งหนักกว่าเดิม ”
อาการตาแห้ง อาจส่งผลให้เกิดการระคายเคืองดวงตารวมไปถึงการเกิดโรคตาแห้งที่อาจส่งผลเสียได้มากกว่าที่คิด

ต้องบอกก่อนว่าตาแห้ง คือ อาการของดวงตาที่มีปริมาณน้ำตามาหล่อเลี้ยงให้เกิดความชุ่มชื้นกับดวงตาและเคลือบกระจกตาดำไม่เพียงพอ สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน
สาเหตุของอาการตาแห้งเพราะอะไร ?
อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ ทั้งปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายใน อย่างปัจจัยภายนอก เช่น การใช้สายตาระยะใกล้อย่างการจ้องจอคอมพิวเตอร์ติดต่อกันเป็นเวลานานหรือการอ่านหนังสือต่อเนื่องเป็นเวลาหลายชั่วโมง ส่วนปัจจัยภายในตัวบุคคลเอง เช่น เพศ โดยพบว่ามีโอกาสเกิดกับเพศหญิงมากกว่าเพศชาย, อายุ ที่พบว่าเมื่อเข้าสู่อายุ 65 ปีขึ้นไป มีอัตราการเกิดโรคตาแห้งสูงกว่าวัยอื่น, การมีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคภูมิแพ้ตัวเอง โรคความดันโลหิตสูง ที่ต้องมีการทานยาขับปัสสาวะและส่งผลข้างเคียงทำให้เกิดตาแห้ง หรือผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่ต้องทานยาบางตัวที่ส่งผลข้างเคียงเช่นกัน
อาการที่บ่งบอกว่าตาเราเริ่มแห้งเป็นยังไง ?
-
อาจมีตั้งแต่คันตา แสบตา ระคายเคืองตา รู้สึกเสียดสีที่ดวงตา เหมือนมีสิ่งแปลกปลอมในตา
-
เจ็บ มีอาการพร่ามัวลง
-
สายตามีความไวต่อแสงมากกว่าปกติ
-
ล้าหรือมีอาการน้ำตาไหลมากก็เป็นได้
-
รู้สึกฝืดๆ หนักๆตา ลืมตาลำบาก
-
แพ้แสง แพ้ลม
-
เกิดเมือกเหนียว ๆ บริเวณรอบดวงตา
-
บริเวณตาขาวมีสีแดงจากการอักเสบ ขอบเปลือกตาแดง
-
ตาพร่ามัวในบางขณะแต่ดีขึ้นเมื่อกระพริบตา
-
รู้สึกไม่สบายตาเมื่อตื่นนอน
แนะนำว่าถ้ามีสัญญาณหรืออาการของตาแห้งดังกล่าวข้างต้น รวมไปถึงตาแดง ระคายเคือง ตาล้าหรือเจ็บตา ควรรีบไปพบแพทย์ปรึกษาเพื่อทำการรักษา ซึ่งแพทย์จะตรวจดูอาการและส่งไปยังผู้เชี่ยวชาญโดยเฉพาะเพื่อตรวจหาสาเหตุที่แท้จริง

ควรรักษาอาการตาแห้งเบื้องต้นยังไงดีล่ะ ?
-
ควรปรับพฤติกรรมการใช้สายตาให้เหมาะสมร่วมกัน การใช้น้ำตาเทียมหยอดตา ใช้เพื่อหล่อลื่นและให้ความชุ่มชื้นกับผู้ที่ตาแห้ง น้ำตาเทียม แบ่งได้ 2 ชนิด คือ
- น้ำตาเทียมชนิดน้ำ เหมาะที่จะใช้ในเวลากลางวัน เพราะไม่เหนียวเหนอะหนะและไม่ทำให้ตามัว แต่ต้องหยอดตาบ่อย
- น้ำตาเทียมชนิดเจลและขี้ผึ้ง มีลักษณะเหนียวหนืด หล่อลื่นและคงความชุ่มชื้นได้นานกว่าชนิดน้ำ แต่จะทำให้ตามัวชั่วขณะหลังป้ายยา จึงควรใช้ป้ายตาแต่น้อยและควรใช้ก่อนเข้านอน -
การรักษาด้วยวิธีใช้น้ำตาเทียม เวลาในการหยอดตาจะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการตาแห้ง หากวันใดไม่ถูกแสงแดดหรือลม และรู้สึกสบายตาก็ไม่จำเป็นต้องหยอด แต่ถ้ารู้สึกเคืองตามาก ก็สามารถหยอดบ่อยๆได้ตามต้องการ
**ข้อควรระวังในการใช้น้ำตาเทียม** ต่อให้การใช้น้ำตาเทียมจะเป็นผลดีแต่ก็มีข้อควรระวัง โดยที่ผู้ป่วยที่ตาแห้งน้อย ควรหยอดตาไม่เกินวันละ 4-5 ครั้ง สามารถใช้ยาหยอดตาชนิดที่มีสารกันบูดได้ กรณีผู้ป่วยที่ตาแห้งมาก และหยอดตามากกว่าวันละ 6 ครั้ง จักษุแพทย์จะสั่งน้ำตาเทียมชนิดพิเศษที่ไม่มีสารกันบูด (Preservative-Free Tear) ให้ใช้แทน ซึ่งมีข้อจำกัด คือ ยาจะบรรจุในหลอดเล็ก เมื่อเปิดใช้แล้วต้องใช้ให้หมดภายใน 16 ชั่วโมง หากใช้นานกว่านี้อาจเกิดการปนเปื้อนของเชื้อโรค
-
อาจใช้แว่นกอกเกิลส์ เพื่อป้องกันการระเหยของน้ำตาร่วมด้วยโดยเฉพาะในผู้ที่อยู่กับลมแรง เช่นคนที่ทำงานขับขี่มอเตอร์ไซค์ส่งของทั้งวัน เป็นต้น
-
ลองกระพริบตา ในภาวะปกติคนเราจะกระพริบตานาทีละ 20-22 ครั้ง ทุกครั้งที่กระพริบตา เปลือกตาจะรีดผิว น้ำตาให้มาฉาบผิวกระจกตา แต่ถ้าในขณะที่จ้องหรือเพ่ง ตาจะลืมค้างไว้นานกว่าปกติ ทำให้กระพริบตา เพียง 8-10 ครั้ง น้ำตาก็จะระเหยออกไปมาก ทำให้ตาแห้งเพิ่มขึ้น จึงควรพักสายตาโดยการหลับตา กระพริบตา ทุกๆ 10 - 15 นาที หรือลุกขึ้นเปลี่ยนอิริยาบถ ประมาณ 2-3 นาที ในทุกครึ่งชั่วโมง
-
ใช้กรอบแว่นตาชนิดพิเศษ สำหรับผู้ที่ตาแห้งมาก อาจใช้กรอบแว่นชนิดพิเศษที่มีแผ่นคลุมปิดกันลมด้านข้างของแว่นตา แว่นชนิดนี้จะช่วยครอบทั้งดวงตาและป้องกันลม หรือจะใช้แผ่นซิลิโคนชนิดพิเศษที่มีลักษณะบางใส และนุ่ม นำมาตัดให้เข้ารูปและติดเข้ากับด้านข้างของกรอบแว่นตาคู่เดิม ซึ่งเรียกว่า Moist Chamber
-
หลีกเลี่ยงการปะทะโดยตรงกับแสงแดดและลม สวมแว่นกันแดดเมื่ออยู่กลางแจ้ง ไม่นั่งในที่ที่มีลมพัดหรือลมแอร์เป่าใส่ดวงตา
-
นอนพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อให้ร่างการสามารถผลิตน้ำตาได้เต็มที่

ขอคำแนะนำเพิ่มเติมสำหรับคนที่ต้องทำงานหน้าจอนานๆหน่อย ?
สำหรับคนที่มีความจำเป็นต้องทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ หรือมือถือควรที่จะจัดตารางเวลาเพื่อพักสายตาทุก 1-2 ชั่วโมง โดยในแต่ละครั้งให้พักประมาณ 5 นาที โดยการหลับตาหรือมองไปที่ไกลๆ เพราะการมองระยะใกล้จะทำให้เกิดการเกร็งของสายตาแต่การมองระยะไกลจะเป็นการผ่อนคลายสำหรับระยะที่เหมาะสมสำหรับการทำงานอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์คือควรเว้นระยะห่างระหว่างดวงตากับหน้าจอประมาณ 20-24 นิ้ว และควรใช้งานคอมพิวเตอร์ที่มีขนาดหน้าจอไม่เล็กจนเกินไป เพราะจะทำให้เกิดการเพ่ง หน้าจอที่เหมาะสมคือ 19 นิ้วขึ้นไป อาจเพิ่มเติมด้วยการติดแผ่นกรองแสงที่หน้าจอ หรือ สวมแว่นตาที่ช่วยลดการกระเจิงแสงหรือลดแสงสีฟ้าช่วยถนอมสายตาได้ในระดับหนึ่ง
สุดท้ายนี้อยากฝากไว้ว่า สายตาเป็นอวัยวะร่างกายส่วนหนึ่งที่สำคัญ เป็นสิ่งที่เราสามารถรับรู้ได้จากการมองเห็น จึงอยากให้ทุกคนดูแลรักษาเป็นอย่างดี และใช้สายตาให้อยู่กับเราไว้ได้นานๆมากที่สุด
ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก :
www.rama.mahidol.ac.th
.jpg)